ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกกำลังประสบปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากมีการพัฒนาด้านต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับมนุษย์ เช่น การพัฒนารถยนต์เพื่อตอบสนองความต้องการเป็นจำนวนมากในแต่ละปี ทำให้มีการใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น การเผาไหม้เชื้อเพลิงทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน รวมถึงทำให้เกิดภาวะเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดปัญหาภาวะโลกร้อน หลายประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาในเรื่องดังกล่าว
สหภาพยุโรปมีการออกมาตรการปกป้องสิ่งแวดล้อม และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในรถยนต์ที่ปล่อยก๊าซเกินกำหนด โดยมีข้อเสนอการส่งเสริมพลังงานทดแทน ร้อยละ 10 สำหรับการขนส่งทางบก และใช้พลังงานไฟฟ้าทดแทนในรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ทั้งนี้ พลังงานทดแทนต้องมีอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าพลังงานฟอสซิลร้อยละ 35 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในรถยนต์รุ่นใหม่ คงเป้าหมายเดิมโดยลดปริมาณปล่อยก๊าซเหลือ 130 กรัมต่อกิโลเมตร การขยายเวลาการบังคับใช้มาตรการเป็นอัตราก้าวหน้าใน ค.ศ. 2012-2015 โดยร้อยละ 65 ของรถยนต์ที่จำหน่ายใน ค.ศ. 2012 เพิ่มเป็นร้อยละ 75, 80 และ 100 ตามลำดับ โดยให้ลดการปล่อยก๊าซเหลือ 96 กรัมต่อกิโลเมตร ใน ค.ศ. 2020
ข้อดีของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า คือ
1) การทำงานของรถยนต์ไฟฟ้าเงียบกว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง และสามารถทำให้มีอัตราเร่งได้ดี
2) ประหยัดค่าใช้จ่ายและค่าซ่อมบำรุง เพราะใช้พลังงานไฟฟ้าแทนที่น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีราคาสูง
3) ไม่ต้องเสียเวลาไปปั๊มน้ำมันเพราะสามารถชาร์จแบตได้ที่บ้าน ดังนั้น รัฐบาลหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกให้การสนับสนุนรถยนต์พลังงานไฟฟ้า เช่น สหรัฐอเมริกา ประเทศนอร์เวย์ สาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศเยอรมนี ประเทศอังกฤษ ประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น
ทั้งนี้ รถยนต์พลังงานไฟฟ้ามีการชาร์จแบตเตอรี่แบบ QUICK CHARGER ด้วยไฟฟ้ากระแสตรง ใช้เวลาประมาณ 40-60 นาที แบบธรรมดา DOUBLE SPEED CHARGE ด้วยไฟฟ้ากระแสสลับ เช่น ตู้ชาร์จติดผนังติดตั้งที่บ้าน หรือตามห้างสรรพสินค้า ใช้เวลาประมาณ 4-7 ชั่วโมง และแบบธรรมดา NORMAL CHARGE ชาร์จไฟจากเต้ารับภายในบ้านโดยตรง และเต้ารับไฟต้องได้รับการติดตั้งใหม่ และเฉพาะการชาร์จรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเท่านั้น ด้วยไฟฟ้ากระแสสลับ ใช้เวลาประมาณ 12-15 ชั่วโมง
ปัจจุบันกระทรวงอุตสาหกรรมจัดทำแผนการขับเคลื่อนรถยนต์พลังงานไฟฟ้า โดยตั้งเป้าหมายการผลิตภายใน พ.ศ. 2573 โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ
ระยะสั้น พ.ศ. 2563-2565 ผลิตรถสำหรับราชการ รถบัสสาธารณะ รถจักรยานยนต์ และรถยนต์ส่วนบุคคลอื่น ๆ จำนวน 60,000-110,000 คัน
ระยะกลาง พ.ศ. 2564-2568 เร่งผลักดัน Eco EV จำนวน 100,000-250,000 คัน และผลักดันสมาร์ทซิตี้บัส จำนวน 1,000-3,000 คัน
ระยะยาว พ.ศ. 2569-2573 จะขยาย Eco EV จำนวน 750,000 คัน เพื่อรองรับ Zero Emission และ Sharing Mobility โดยมีเป้าหมายผลิตรถยนต์ให้ได้ร้อยละ 30 ของปริมาณการผลิต 2.5 ล้านคัน
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมรถยนต์ไทยเปลี่ยนไปสู่ยุครถยนต์พลังงานไฟฟ้าจะใช้เวลาตั้งแต่ พ.ศ. 2563-2567 ซึ่งจะสอดรับกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 ดังนั้น ประเทศไทย จึงควรส่งเสริมการนำรถยนต์พลังงานไฟฟ้ามาใช้ในประเทศให้มากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและมลพิษ เช่น การแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 และลดการปล่อยมลพิษจากรถยนต์เครื่องยนต์สันดาป รวมถึงแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน
แต่ปัจจุบันราคารถยนต์พลังงานไฟฟ้ายังมีราคาสูง หากรัฐบาลต้องการให้ประชาชนใช้รถยนต์ประเภทนี้ ควรปรับราคาให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศไทย และควรมีการเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับสถานีชาร์จไฟฟ้าให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการใช้งานของผู้บริโภค และมีมาตรการทางด้านภาษีเพื่อจูงใจให้ผู้บริโภคเลือกใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ รถยนต์พลังงานไฟฟ้าจึงเป็นนวัตกรรมสำหรับคนรักษ์โลก เพราะช่วยลดปัญหาด้านมลพิษทางอากาศ และปัญหาภาวะโลกร้อนได้อีกทางหนึ่ง